การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยหมดสติ
"การหมดสติ" เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการหมดสตินั้นจะสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยทั่วไป การหมดสติแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การหมดสติพร้อมกับมีอาการหายใจลำบาก (หรืออาจหยุดหายใจ) และการหมดสติแต่ยังมีการหายใจ ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทที่มีอาการชักร่วมด้วย ได้แก่ ลมบ้าหมู ซึ่งเกิดจากภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือเป็นการชักที่เกิดจากโรค เช่น โรคฮิสทีเรีย เป็นต้น และประเภทที่ไม่มีอาการชักร่วมด้วย ได้แก่ การช็อค เป็นลม เมาเหล้า เบาหวาน หรือเส้นโลหิตในสมองแตก เป็นต้น ทั้งนี้ ลักษณะการหมดสติมี 2 ลักษณะคือ มีอาการซึม มึนงง เขย่าตัวอาจตื่น งัวเงียแล้วหลับ พูดได้บ้างแต่ฟังไม่ได้ศัพท์ และลักษณะอาการหมดความรู้สึกทุกอย่างเป็นการหมดความรู้สึกอย่างสมบูรณ์ แม้แต่เขย่าตัวก็ไม่ฟื้น
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ นั้นผู้ให้การปฐมพยาบาลจะต้องดูว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ ถ้าหยุดหายใจต้องทำการช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาหายใจให้ได้โดยเร็ว ถ้าผู้ป่วยมีเลือดออก ควรจับให้ผู้ป่วยนอนหงาย เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลังลำคอ ซึ่งจะเป็นการอุดกั้นทางเดินหายใจ และป้องกันไม่ให้อาเจียนไหลเข้าสู่หลอดลม ในส่วนของการจัดท่านอนนั้น ถ้าผู้ป่วยหน้าแดง ควรให้นอนศีรษะสูง ถ้าผู้ป่วยมีสีหน้าซีด ให้นอนราบเหยียดขาและแขน เพราะอาจมีกระดูกหักได้ หากต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ดื่มน้ำหรือรับประทานยาใดๆ ตรวจดูบาดแผลโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ หากมีอาการชักให้ม้วนผ้าดามช้อนใส่เข้าไประหว่างฟันเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตนเอง รวมถึงให้หาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยหมดสติและประวัติการเกิดอุบัติเหตุของผู้ป่วย เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ การหมดสติ ไม่ใช่การนอนหลับ แต่การหมดสติ คือ อาการที่ไม่สามารถปลุกให้รู้สึกตัวหรืออาการที่ไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ข้อแตกต่างระหว่างการหมดสติ และการนอนหลับ ก็คือ การนอนหลับสามารถ "ปลุก" ได้ หากมีตัวกระตุ้นที่ดีพอ เช่น การเขย่าตัวแรงๆ หรือตะโกนดังๆ แต่การหมดสติไม่สามารถปลุกได้ ทั้งนี้ การหมดสติอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการเจ็บป่วยบาดเจ็บ หรือการตื่นตกใจที่รุนแรงก็ได้ ระดับการหมดสติ
การหมดสติ แบ่งออกเป็น
- การหมดสติแบบระยะสั้น เช่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- การหมดสติแบบระยะยาว ผู้ป่วยจะสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นได้บ้าง หรือเป็นครั้งคราวเท่านั้น
- การหมดสติแบบระยะยาวมาก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวอย่างสิ้นเชิง ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว และไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นระยะเวลานานมาก สาเหตุของการหมดสติ
- ได้รับสารคาร์บอนมอนออกไซด์เข้าสู่ร่างกาย
- ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (Hypothermia) คือ ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงซึ่งเกิดจากการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือในน้ำที่มีความเย็นมากหรือเป็นเวลานาน
- เป็นลม- ภาวะช็อค
- โรคลมบ้าหมู (Epilepsy)
- หน้ามืด หรือ ร่างกายอ่อนเพลีย
- หมดสติอันมีสาเหตุจากโรคเบาหวาน
- เลือดออกมาก
- ดื่มแอลกอฮอล์ (เมา)
- ใช้ยาเกินขนาด
- ได้รับสารพิษต่างๆ
- ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน
- ปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ
- อัตราการเต้นของหัวใจช้าหรือเร็วผิดปกติ
- ภาวะหัวใจวาย
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- โรคลิ้นหัวใจรั่ว เมื่อพบผู้ที่หมดสติ ให้หาดูว่าผู้ป่วยได้เก็บบันทึกรายละเอียดอาการป่วยของตนเองไว้ที่ใดในร่างกายบ้างหรือไม่ เช่น ตรวจดูบริเวณกำไลข้อมือ สร้อยคอ ในกระเป๋าเงิน บนบัตรต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะระบุข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติได้อย่างถูกต้อง การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ
1. เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ และชีพจรหยุดเต้น
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยทำการช่วยหายใจ โดยวิธี CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ด้วยการปั๊มหัวใจและผายปอด
(Mouth-to-Mouth) ให้แก่ผู้บาดเจ็บ ซึ่งจะช่วยให้เลือดได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นและมีการไหลเวียนเข้าสู่สมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ
ก่อนที่จะถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในกรณีที่ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บได้รับการบาดเจ็บด้วย
ผู้ให้การปฐมพยาบาลจะต้องระมัดระวังไม่ให้ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหว ซึ่งทำได้โดยดึงขากรรไกรล่างหรือคางของผู้บาดเจ็บไปข้างหน้าเพื่อเปิดทางให้อากาศเดินทางเข้าได้สะดวก
2. เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจ แต่ชีพจรยังคงเต้นอยู่
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยทำการผายปอดเพื่อช่วยให้ออกซิเจนไหลเข้าไปที่ปอดของผู้บาดเจ็บและให้ปฏิบัติเช่นนี้ไปจนกระทั่งผู้บาดเจ็บสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง หรือจนกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเดินทางมาถึง ทั้งนี้ ต้องควบคุมศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บให้ไม่มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน
3. เมื่อผู้ป่วยมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือลำคอ
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดำเนินการตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ และลำคอ/หลัง
ข้อควรจำ: ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บได้รับการบาดเจ็บด้วยหรือไม่ ห้ามทำให้ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาดจนกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเดินทางมาถึง (นอกจากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณที่มีความเสี่ยงอันตรายเท่านั้น) การเคลื่อนไหวของศีรษะ ลำคอหรือหลังอาจทำให้ผู้บาดเจ็บเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ให้ใช้มือทั้งสองข้างจับไปที่ศีรษะทั้งสองข้างของผู้บาดเจ็บ โดยให้ศีรษะ ลำคอหรือหลังของผู้บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
4. เมื่อผู้ป่วยมีเลือดออกเป็นจำนวนมาก
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันทีจากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดำเนินการตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่มีเลือดออกหรือการห้ามเลือด 5. เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ก่อนการหมดสติ (อาการของปฏิกิริยาตอบสนองต่ออินซูลิน หรือปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ)
- ควบคุมร่างกายไม่ได้
- โกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
- สับสน มึนงง
- ร่างกายซีดเผือด
- เหงื่อออกมาก
- ตัวสั่น ใจสั่น
- เป็นลม ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย
- นำน้ำตาลปริมาณหนึ่งวางไว้ใต้ลิ้นของผู้ป่วย จากนั้นตรวจดูว่าในกระเป๋าของผู้ป่วยมียาหรือวัตถุให้ความหวานหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยอาจเก็บสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และถ้ามี ให้นำไปใส่ไว้ใต้ลิ้นของผู้ป่วย
- ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกมากที่สุด
- ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง
- ห้ามให้ดื่มน้ำหรือของเหลวใดๆ ทั้งสิ้น 6. เมื่อผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้
ซึ่งเป็นสัญญาณของการหมดสติจากโรคเบาหวาน
- ชีพจรเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ
- หายใจถี่และลึก
- ตัวอุ่น ผิวแห้งและมีสีแดงเรื่อ
- ได้กลิ่นต่างๆ คล้ายผลไม้ เช่น น้ำองุ่น หรือ คล้ายน้ำยาล้างเล็บ (อาซิโตน)
- อาเจียน
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
7. เมื่อผู้ป่วยถูกแมลงหรือสัตว์กัดต่อย
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันทีจากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดูว่าผู้บาดเจ็บได้รับการกัดหรือต่อยโดยแมลงหรือสัตว์ชนิดใด ตลอดจนดูลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้น โดยให้ดำเนินตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่ถูกแมลงกัดหรือต่อย 8. เมื่อเขย่าตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 2 นาทีแล้วผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหรือไม่มีการตอบรับใดๆแต่ยังมีการหายใจอยู่ และผู้ป่วยไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่หายใจได้สะดวกมากที่สุด (Recovery Position)
9. เมื่อผู้ป่วยหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที จากนั้นให้ดำเนินการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดำเนินตามวิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยหน้ามืดหรือเป็นลม
การปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยทุกๆครั้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะ"การหมดสติ"นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะจะสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ดังนั้นผู้ให้การปฐมพยาบาล จึงต้องปฏิบัติกับผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและรวดเร็วทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น
|